วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

ไมเกรน เลี่ยงได้ไม่ยาก


ไมเกรน เลี่ยงได้ไม่ยาก

ก่อนที่จะพึ่งยาแก้ปวดไมเกรนครั้ง ต่อไป ลองมาดูว่ามีวิธีไหนที่ช่วยบรรเทา หรือหยุดอาการปวดหัวให้หมดไปได้ อายุรแพทย์แนะนำวิธีหยุด/หลีกเลี่ยงอาการ ปวดศีรษะไมเกรน โดยไม่ต้องพึ่งยา หนึ่งในเรื่องทรมานที่พบมากในหญิงวัยทำงาน


ก่อนที่จะพึ่งยาแก้ปวดไมเกรนครั้งต่อไป ลองมาดูว่ามีวิธีไหนที่ช่วยบรรเทา หรือหยุดอาการปวดหัวให้หมดไปได้ จากคำแนะนำของ เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์จากคลินิกโรคปวดศีรษะ ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ
 
เพราะการกินยาไม่ใช่คำตอบสุดท้าย บางคนกินยาเข้าไปแล้วอาการปวดก็ยังไม่หาย แถมยังสะสม ส่งผลกระทบต่อตับและไตตามมาในภายหลัง หรือในคนไข้บางคนที่ไม่สามารถกินยาแก้ปวดไมเกรน เนื่องจากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ยาไมเกรนจึงไม่ใช่ทางออกเสมอไป
 
แล้วถ้าไมเกรนมาเยือนครั้งต่อไป จะต้องทำอย่างไร คุณหมอ บอกว่า อันดับแรกจะต้องหาสาเหตุของอาการปวด โดยสังเกตดูว่าทุกครั้งที่มีอาการปวดหัว เริ่มต้นจากอะไร เพราะแต่ละคนมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัวแตกต่างกัน
 
"บางคนอาการป่วยมาพร้อมกับความเครียด และพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ บางคนเริ่มปวดหัวหลังการเผชิญกับแสงแดดจ้าในเวลากลางวัน หรืออากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางคนรู้สึกปวดหัวทุกครั้งที่เข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง หรือได้กลิ่นฉุนจากน้ำหอม กลิ่นควันธูป เหล่านี้คือปัจจัยยอดฮิตที่ทำให้อาการปวดกำเริบ และเป็นปัญหาใหญ่ของคนไข้ไมเกรนในปัจจุบัน"คุณหมอกล่าว
 
นอกจากปัจจัยที่ว่ามาแล้ว อาหารบางประเภทยังมีส่วนเสริมทำให้ไมเกรนกำเริบ เช่น อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอกรมควัน ที่มีส่วนผสมของสารกันบูด อาหารประเภทหมักดอง ผงชูรส น้ำตาลเทียม ผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์แดง เบียร์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน กาแฟ ชา โกโก้ น้ำอัดลม ตลอดจนชีสและผงชูรส
 
หรือผู้หญิงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงมีรอบเดือน ทำให้สมองมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น และการอดอาหารก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นไมเกรนได้เช่นกัน เมื่อค้นหาสาเหตุเจอแล้ว สิ่งที่ควรทำคือหลีกเลี่ยง หรือหยุดปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้
 
คุณหมอย้ำว่า การที่คนไข้เดินทางมาพบแพทย์ จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสมกับอาการที่เป็น แม้กระทั่งข้อปฏิบัติในการทานยาไมเกรนที่หลายคนอาจยังไม่รู้ เช่น เมื่อรู้สึกปวดแล้วให้รีบกินทันทีเพื่อระงับอาการ แทนที่จะทนให้อาการปวดรุนแรงก่อนถึงจะกินยา ซึ่งเป็นผลเสีย เพราะเมื่อร่างกายเข้าใจว่ายอมรับกับอาการปวดได้ ก็จะเริ่มปรับระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น
 
"การค้นหาสาเหตุให้พบจะนำมาสู่การรักษาอย่างถูกวิธี เพราะหลายครั้งที่แพทย์ตรวจพบว่า สาเหตุของไมเกรนไม่ได้มากจากปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก แต่เป็นอาการปวดที่มาจากปัจจัยภายใน เช่น ปวดไมเกรนจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งต่อให้ทานยาเป็นประจำก็ใช่ว่าจะหาย"คุณหมอกล่าว
 
นอกจากการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของไมเกรนด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ ปัจจุบันมีการนำเทคนิคใหม่ในการวินิจฉัยและรักษาอาการปวดศีรษะอย่างได้ผล เช่น ไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) เพื่อวัดการทำงานของร่างกายขณะปวดหัว เปรียบเทียบกับในยามที่ร่างกายปกติ ไม่ว่าจะเป็น อัตราการเต้นของหัวใจ กล้ามเนื้อ ความดัน อุณหภูมิ ใช้เป็นเกณฑ์ในการฝึกร่างกายให้ผ่อนคลาย กำหนดลมหายใจ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เพื่อให้อาการปวดค่อยๆ ทุเลา และทานวิตามินเสริม เช่น วิตามินบี 2 เกลือแร่ และโคเอนไซม์คิว10
 
ส่วนกรณีอาการปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จากความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย ท่านั่ง ยืน เดิน หรือนอนที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุล และเกิดการฉีกขาดได้นั้น การทำกายภาพบำบัดที่มีส่วนช่วยแก้อาการปวดหัวได้เช่นกัน
 
เทคนิคสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงไมเกรนคือ การแพทย์ทางเลือกอย่าง การฝังเข็มบริเวณหน้าผาก ขมับ ท้ายทอย กลางกระหม่อม และกระบอกตา จะช่วยให้เส้นลมปราณที่ติดขัด ไหลเวียนได้สะดวก ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อบริเวณที่มีปัญหาให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น ผลจากฝังเข็ม 10 ครั้ง ใน 1 เดือน สามารถบรรเทาอาการปวดในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น