วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

เที่ยวฮ่องกงเดือนเมษาเต็มอิ่มกับ 4 เทศกาลวัฒนธรรม


เที่ยวฮ่องกงเดือนเมษาเต็มอิ่มกับ 4 เทศกาลวัฒนธรรม

เที่ยว ฮ่องกงเดือนเมษายนพบกับ 4 เทศกาลสำคัญสืบทอดวัฒนธรรม ได้แก่ งานฉลองวันเกิดเจ้าแม่ทินโห่ว เทศกาลวันคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้า งานฉลองวันเกิดเทพทัมกุงและเทศกาลซาลาเปาบนเกาะเฉิ่งเจ้า



เริ่มด้วยงานฉลองวันเกิดเจ้าแม่ทินโห่ว (Birthday of Tin Hau) ในวันที่ 13 เมษายน เป็นการฉลองให้เทพแห่งท้องทะเลที่ชื่อว่าทินโห่วที่ชาวฮ่องกงเชื่อกันว่าสามารถพยากรณ์อากาศได้แม่นยำและคอยคุ้มครองให้ชาวประมงเดินเรือได้อย่างปลอดภัย ดัง นั้น ก่อนออกหาปลา ชาวประมงจึงมักจะมาสักการะที่วัดทินโห่วเพื่อขอพรให้สภาพภูมิอากาศเป็นใจ ตลอดรอดฝั่ง โดยปัจจุบัน มีวัดทินโห่วมากถึง 70 วัดกระจายตัวทั่วฮ่องกง เมื่อวันเกิดเจ้าแม่ทินโห่วเวียนมาถึง ชาวฮ่องกงจะทำการตกแต่งเรือประมงรวมทั้งเรือสำเภาโบราณ (Duk Ling) ด้วยธงสีต่างๆเพื่อแสดงความขอบคุณที่เจ้าแม่ทินโห่วช่วยคุ้มครอง จากนั้นจะล่องเรือ แห่วนในอ่าววิคตอเรีย ก่อนจะมุ่งหน้าไปยัง Joss House Bay ในไซกุง (Sai Kung) ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดทินโห่วที่เก่าแก่ที่สุด สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.1266 เพื่อทำพิธีจุดธูปบูชา ท่ามกลางชาวฮ่องกงกว่า 50,000 คน ที่มารวมตัวกันที่วัดแห่งนี้เป็นประจำทุกปีเพื่อฉลองให้กับเจ้าแม่ทินโห่ว 


ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2555 จะเป็นเทศกาลวันคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้า (Birthday of Lord Buddha) นับเป็นเทศกาลที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมีเอกลักษณ์อีกเทศกาลหนึ่งที่ถือ ปฏิบัติมายาวนานในฮ่องกง ชาวฮ่องกงจะทำการสรงน้ำพระที่วัดพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารามโป๋หลินบนเกาะลันเตา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระใหญ่ พระพุทธรูปนั่งกลางแจ้งทำจากทองสัมฤทธิ์ที่สูงที่สุดในโลก พุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อสรงน้ำพระและชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ นอกจากนั้น ก่อน และหลังวันคล้ายวันประสูติของพระพุทธเจ้า ผู้เข้าร่วมเทศกาลจะทานคุ้กกี้รสขม เพราะมีความเชื่อว่าหลังจากได้ทานอาหารรสขมเข้าไปแล้ว สิ่งดีๆจะตามมา นอกจากพิธีสรงน้ำพระ จะมีการแสดงกังฟูจากสำนักเส้าหลินและโชว์ศิลปะการแสดงเปลี่ยนหน้าด้วย ทั้งในวันเดียวกันก็ยังมีเทศกาลงานฉลองวันเกิดเทพทัมกุง (Birthday of Tam Kung) ซึ่งเทพทัมกุงเป็นเทพแห่งท้องทะเลเหมือนเจ้าแม่ทินโห่ว และได้รับการบูชาจากชาวประมงอยู่เสมอ 


ตามความเชื่อโบราณเล่าว่า ทัมกุง เกิดในสมัยราชวงศ์หยวน เมื่อยังเล็กมีความสามารถในการพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี ตำนานยังเล่าว่า ทัมกุงเรียนรู้จนบรรลุและมีสติปัญญาแตกฉานตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงยังคงความอ่อนเยาว์บนใบหน้าไว้ได้แม้ร่างกายจะล่วงเลยวัยจนอายุ 80 ปี แล้วก็ตาม


ในโอกาสวันเกิดของเทพทัมกุง ชาวฮ่องกงนิยมฉลองที่วัดทัมกุงใน Shau Kei Wan บนเกาะฮ่องกง เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1905 แม้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2002 ก็ยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี หินที่อยู่ด้านหน้าของวัดคือสัญลักษณ์แห่งเทพทัมกุง ภายในวัดมีระฆังเหล็กและแท่นหินที่บอกเล่าประวัติการก่อตั้งวัดแห่งนี้ นอกจากนั้นยังมีเรือสำเภาและเรือมังกรโบราณที่ทำจากไม้อายุเก่าแก่หลายร้อย ปีตั้งอยู่ด้วย


และในช่วงวันที่ 25-29 เมษายน เทศกาลซาลาเปาบนเกาะเฉิ่งเจ้า (Cheung Chau Bun Festival) โดยชื่อเทศกาลมีที่มาจากหอคอยสูงที่ทำจากไม้ไผ่ตั้งตระหง่านหน้าวัดปักไต้บน เกาะเฉิ่งเจ้า ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการฉลองโดยการแข่งเก็บซาลาเปาภายในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่พาเหรดของเหล่าเทพเด็กอีกด้วย เทศกาลซาลาเปา ถือปฏิบัติมานานกว่า 100 ปีแล้วเนื่องจากสมัยก่อนเคยมีโรคระบาดคร่าชีวิตชาวบ้านจำนวนมาก จึงมีการสร้างแท่นบูชาหน้าวัดปักไต้


เพื่อวอนให้เทพเจ้าช่วยคุ้มครองและขับไล่ วิญญาณร้ายออกไป นอกจากนั้นชาวบ้านได้ทำการแห่รูปปั้นของเทพเจ้าตามตรอกซอยทั่วเกาะอีกด้วย หลังจากพิธีกรรมทั้งหมด โรคระบาดได้หายไปจากเกาะอย่างไม่น่าเชื่อ จึงทำให้ชาวบ้านบนเกาะเฉิ่งเจ้าจัดเทศกาลซาลาเปาขึ้นทุกปีเพื่อขอบคุณ เทพเจ้าที่ช่วยคุ้มครองและป้องภัย
ปัจจุบันการแห่ขบวนพาเหรดของเหล่าเทพเด็ก ดังกล่าวยังคงจัดขึ้นเป็น ประจำทุกปี โดยเด็กๆจะแต่งกายเลียนแบบเทพเจ้าในตำนานรวมถึงคนมีชื่อเสียง พร้อมนั่งนิ่งๆ ในขณะที่แห่ไปรอบเมือง มองดูแล้วราวกับว่าลอยอยู่บนอากาศได้จริง ทำให้นักท่องเที่ยวรวมถึงชาวบ้านอดยิ้มไปกับความน่ารักและไร้เดียงสาของ เด็กๆอย่างเสียมิได้
ในแต่ละขบวนจะประกอบด้วยเด็ก 2 คน นั่งประจำตำแหน่งที่ลดหล่นกัน เด็กที่มาร่วมขบวนพาเหรดมีอายุระหว่าง 5-6 ขวบและหนักไม่เกิน 18 กิโลกรัม สำคัญที่สุดคือต้องไม่กลัวความสูงและอดทน เพราะเด็กต้องแต่งกายมิดชิด รัดกุม จึงอาจทำให้ร้อนได้ง่าย ระหว่างจุดเชื่อมต่อของเด็กทั้งสองจะประดับด้วยสัญลักษณ์
อธิบายความเกี่ยวข้องของเทพเจ้าทั้งคู่ ในแต่ละปี ชาวบ้านมักจะเคลื่อนขบวนแห่ไปตามตรอกและซอยต่างๆบนเกาะเฉิ่งเจ้าโดยการลาก แต่บางครั้งก็อาจใช้วิธีแบกขึ้นไหล่ได้เช่นกัน


ส่วนบริเวณหน้าวัดปักไต้ซึ่งเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวบ้านบนเกาะ จะเป็นสถานที่จัดแข่งขันเก็บซาลาเปาบนหอคอยที่ทำจากไม้ไผ่ และปกคลุมด้วยซาลาเปาสีขาวนวลกว่า 9,000 ลูก รอคอยผู้กล้ามาโกยเก็บท้าความสูงกว่า 14 เมตร ชาวบ้านบนเกาะเฉิ่งเจ้าเชื่อกันว่าซาลาเปาคือสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและสุขภาพที่แข็งแรง จึงมักให้คนในครอบครัวเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วยเวลาแข่ง ขันที่มีจำกัดเพียง 3 นาที ผู้เข้าแข่งขันจึงมักปีนขึ้นไปบริเวณยอดหอคอยก่อนเพื่อแย่งกันเก็บซาลาเปา ที่มีคะแนนสูงสุดในบริเวณนั้น ใครมีคะแนนรวมมากที่สุดจะคว้าตำแหน่ง King or Queen of the Buns ไปครองทันที


ในช่วงเทศกาลนี้เอง ชาวบ้านบนเกาะเฉิ่งเจ้าจะหันมาทานมังสวิรัติ ดังนั้นซาลาเปานำโชค หรือ Lucky Bun จึงทำมาจากแป้ง น้ำตาลและน้ำ และมีเพียง 3 รสชาติให้เลือกลอง นั่นคือไส้งา ลูกบัวและถั่วแดง ปราศจากไส้ที่ทำจากเนื้อสัตว์ รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ เช่น น้ำมันหรือเนย ซาลาเปานำโชคลูกกลมที่ถูกปั๊มด้วยตัวอักษรจีนคำว่า “สันติสุข” เหล่านี้จะถูกนำมาแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมงานและนักท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดงานเทศกาล
เทศกาลซาลาเปาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมประจำชาติของจีนลำดับที่สาม ในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยองค์การยูเนสโก นอก จากนี้นิตยสารออนไลน์ของอเมริกาอย่าง Time.com ยังมอบตำแหน่งหนึ่งในสิบเทศกาลท้องถิ่นสุดแปลกให้กับเทศกาลซาลาเปาบนเกาะ เฉิ่งเจ้าอีกด้วย 


เทศกาลฉลองสีสันทางวัฒนธรรมของฮ่องกงเป็น เครื่องพิสูจน์ได้ดีถึงการหลอม รวมกันอย่างลงตัวระหว่างความก้าวล้ำนำสมัยของมหานครระดับโลกและประเพณีดั้ง เดิมที่ยึดปฏิบัติมานับร้อยปี ฮ่องกงอวดสถานะความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การลงทุนหรือโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างภาคภูมิและในขณะเดียวกันก็แสดงความโดด เด่นทางด้านสีสันทางวัฒนธรรมได้อย่างไม่เคอะเขิน ฮ่องกงคือหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการพักผ่อนอย่างมีคุณค่าในเดือน เมษายนนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น